
โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย เป็นโรงเรียนประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เปิดทำการสอน ตั้งแต่ พ.ศ. 2448 ปัจจุบันโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย เปิดสอนทั้งระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลาย โดยเปิดรับนักเรียนหญิงเข้าเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายเมื่อปีการศึกษา 2515 และรับนักเรียนหญิงเข้าเรียนในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นในปีการศึกษา 2538 ซึ่งในปัจจุบันเป็นการจัดการศึกษาแบบสหศึกษา เพื่อให้สอดคล้องกับชีวิตความเป็นอยู่ของสังคมปัจจุบันตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ และได้เข้าร่วมโครงการโรงเรียนมาตรฐานสากล (World-Class Standard School) ในประเทศไทย โดยมุ่งเน้นให้นักเรียนมีศักยภาพเป็นพลโลก เป็นเลิศทางวิชาการ สื่อสารสองภาษา ล้ำหน้าทางความคิด ผลิตงานอย่างสร้างสรรค์ ร่วมกันรับผิดชอบต่อสังคมโลก ปัจจุบันสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาเขต 3 (พระนครศรีอยุธยา-นนทบุรี)
สถาปนาโรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า
พ.ศ. 2448 - 2484 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้พระราชทานกำเนิดโณงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า ในแผ่นดิน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกาศพระบรมราชโองการจัดตั้งโรงเรียนหลวงขึ้นตามมณฑลต่าง ๆ โดยทั่วกัน ยึดแบบอย่างของโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย โรงเรียนหลวงแห่งแรกของประเทศไทย (จัดตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2425) ด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลในพระองค์ที่ทรงมีพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง โรงเรียนหลวงขึ้นนี้ เพราะพระองค์มีพระราชปณิธานอันยิ่งใหญ่ ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขา ความตอนหนึ่งว่า เจ้านายราชตระกูล ตั้งแต่ลูกฉันเป็นต้นไป จนถึงราษฎรที่ต่ำที่สุด จะได้มีโอกาสเล่าเรียนได้เสมอกัน ไม่ว่าเจ้า ว่าขุนนาง ว่าไพร่ เพราะฉะนั้น จึงขอบอกได้ว่าการเล่าเรียนในบ้านเมืองนี้ จะเป็นข้อสำคัญที่หนึ่ง ซึ่งฉันอุตส่าห์จัดให้เจริญขึ้นให้จงได้ (พระบรมราชโองการฯ จัดตั้งโรงเรียนหลวงตามมณฑล ประกาศเมื่อปี พ.ศ. 2441) ซึ่งในขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดให้จัดการปฏิรูปการปกครองทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค โดยการปกครองส่วนภูมิภาคนั้น โปรดให้จัดการปกครองแบบเทศาภิบาลขึ้น โดยให้รวมเมืองที่อยู่ใกล้เคียงกัน 3-4 เมือง ขึ้นเป็นมณฑล มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้ปกครอง โดยในปี พ.ศ. 2438 ทรงโปรดให้จัดตั้งมณฑลกรุงเก่าขึ้น ประกอบด้วยหัวเมืองต่าง ๆ คือ กรุงเก่าหรืออยุธยา อ่างทอง สระบุรี ลพบุรี พรหมบุรี อินทร์บุรี และสิงห์บุรี โดยมี พระยาโบราณบุรานุรักษ์ เป็นข้าหลวงเทศาภิบาลประจำมณฑล และได้สนองพระบรมราชโองการของพระองค์ท่านจัดตั้งโรงเรียนประจำมณฑลขึ้นใน ร.ศ.123 หรือ ปีพ.ศ. 2448 โดยในระยะแรกใช้กุฏิพระ และศาลาวัดและบริเวณใกล้เคียงกับวัดเสนาสนาราม หลังพระราชวังจันทรเกษม เป็นสถานที่ทำการเรียนการสอน โดยเรียกชื่อว่า "โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า"
ครั้นถึงปี พ.ศ. 2450 กระทรวงธรรมการเห็นว่าประชาชนนิยมส่งบุตรหลานมาศึกษาเล่าเรียนเป็นจำนวนมากจนทำให้สถานที่เดิมคับแคบ จึงได้จัดสร้างอาคารเรียนแบบประยุกต์ครึ่งตึกครึ่งไม้ ลักษณะถาวร2ชั้นแบบ6ห้องเรียนและห้องประชุมอีก 1 ห้อง ประชาชนในมณฑลกรุงเก่าขณะนั้นเรียกชื่อโรงเรียนกันว่า "โรงเรียนหลังวัง" (ซึ่งตึกที่กระทรวงธรรมการได้สร้างนั้นต่อมาโรงเรียนอยุธยานุสรณ์ขอใช้ตึกนี้เป็นที่ตั้งของโรงเรียน เพราะโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยย้ายมาอยู่ในสถานที่ปัจจุบัน) เนื่องจากมณฑลกรุงเก่า ได้รับการยกย่องให้เป็นหัวเมืองเอกอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้นโรงเรียนจึงอยู่ในความสนใจของผู้ใหญ่และเจ้านายชั้นสูงตลอดมา จนทำให้โรงเรียนมีมาตรฐานการศึกษาอบรมสูงสมฐานะเมื่อ ร.ศ.127 และในปีต่อๆมานักเรียนของโรงเรียนทุกคนต้องไป ทำพิธีถือน้ำพระพิพัฒน์สัตยา ทุกๆปี แม้ภายหลังจะยกเลิกเสีย แต่ก็ย่อมแสดงถึงฐานะของโรงเรียนเป็นอย่างดีครู-อาจารย์และนักเรียนเก่าๆก็ล้วนแต่เป็นผู้มีวิทยาคุณและเกียรติอันควรคารวะ ทั้งสิ้น
ต่อมาในปี พ.ศ. 2467 ทางราชการได้ยุบเลิกมณฑลต่าง ๆ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวมเมืองอินทร์บุรีและเมืองพรหมบุรีเข้ากับเมืองสิงห์บุรี ตั้งที่ว่าการมณฑลที่อยุธยา ซึ่งก็คือพระราชวังจันทรเกษม ในส่วนของตึกที่ทำการภาค (อาคารมหาดไทย)และพระที่นั่งพิมานรัตยาแต่อาคารหลังอื่นๆในพระราชวัง ทางโรงเรียนก็ได้ขอใช้ทำการเรียนการสอนต่อ แต่ก็ส่งผลทำให้สถานที่เล่าเรียนของโรงเรียนมีพื้นที่น้อยลง และในปี พ.ศ. 2469พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อจาก "มณฑลกรุงเก่า" เป็น "จังหวัดพระนครศรีอยุธยา" ซึ่งจากการจัดตั้งมณฑลอยุธยามีผลให้อยุธยามีความสำคัญทางการบริหารการปกครองมากขึ้น การสร้างสิ่งสาธารณูปโภคหลายอย่างมีผลต่อการพัฒนาเมืองอยุธยาในเวลาต่อมา[1] จนเมื่อยกเลิกการปกครองระบบเทศาภิบาลตามพระราชบัญญัติ ว่าด้วยระเบียบราชการบริหารส่วนอาณาจักรสยาม พุทธศักราช 2467 เปลี่ยนให้มณฑลต่างๆนั้นเลื่อนฐานะเป็นจังหวัดแต่อยุธยายังคงเป็นมณฑลเทศาภิบาลอยู่ จนกระทั่งภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 อยุธยาจึงเปลี่ยนฐานะเป็นจังหวัดพระนครศรีอยุธยาจนถึงปัจจุบัน และก็เป็นผลทำให้โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า เปลี่ยนชื่อมาเป็น โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ดังปัจจุบัน
พ.ศ. 2484 – ปัจจุบัน พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พระผู้พระราชทานกำเนิดอยุธยาวิทยาลัยในปัจจุบัน หลังจากที่เปลี่ยนชื่อโรงเรียนจาก โรงเรียนตัวอย่างประจำมณฑลกรุงเก่า มาเป็น โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยแล้วนั้น การเรียนการสอนก็เป็นไปอย่างราบรื่นและได้เจริญก้าวหน้ามาโดยตลอด นับจากปีพ.ศ. 2448 จนถึงปีพ.ศ. 2483 โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยมีอายุถึง 35 ปี ที่ใช้อาคารเรียนอยู่ด้านหลังพระราชวังจันทรเกษม จนประชาชน ชาวบ้านเรียกกันว่า โรงเรียนหลังวัง จนมีศิษย์เก่าสำเร็จการศึกษาเป็นจำนวนมาก และซึ่งศิษย์เก่ารุ่นแรกๆเหล่านี้เป็นบุคคลที่มีเกียรติอันควรคารวะ อาทิเช่น
ศาสตราจารย์ ดร. ปรีดี พนมยงค์ หรือ หลวงประดิษฐ์มนูธรรม รัฐบุรุษอาวุโส อดีตนายกรัฐมนตรี3สมัย และยังเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เข้าศึกษาใน ร.ศ.131หรือพ.ศ. 2455 เลขประจำตัว791
พลเรือตรี หลวงธำรง นาวาสวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าศึกษาใน ร.ศ.131หรือพ.ศ. 2455เลขประจำตัว 640
พลเรือตรี หลวงธำรง นาวาสวัสดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี เข้าศึกษาใน ร.ศ.131หรือพ.ศ. 2455เลขประจำตัว 640
พลตรีหม่อมทวีวงศ์ถวัลยศักดิ์ อดีตองคมนตรี
นายวิโรจน์ กมลพันธ์อดีตธรรมการจังหวัดและอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการเลขประจำตัว 684 ฯลฯ
ชื่อเสียงและประวัติศาสตร์อันยาวนานของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย และรวมทั้งครูบาอาจารย์ที่ทรงคุณวุฒิอีกมากมายหลายท่าน ทำให้ประชาชนในมณฑลกรุงเก่าขณะนั้น ให้การยอมรับและพร้อมใจกันส่งบุตรหลานเข้ารับการศึกษาเป็นจำนวนมากยิ่งขึ้นทุกๆปีจนสถานที่นั้น คับแคบลงทุกปี จนกระทั่งเมื่อ ดร.ปรีดี พนมยงค์ นักเรียนเก่าอยุธยาวิทยาลัย ได้ขึ้นดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (พ.ศ. 2481 - พ.ศ. 2484) ได้ตั้งปณิธานที่จะใช้เครื่องมือทางการคลังสร้างความมั่นคงให้แก่ชาติ สร้างความเป็นธรรมและความสุขสมบูรณ์แก่ราษฎร และได้มีแผนที่จะปรับปรุงเกาะเมืองพระนครศรีอยุธยา และได้เล็งเห็นว่า สถานที่ตั้งของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย แต่เดิมนั้นคับแคบ ไม่มีโอกาสขยายได้อีกเท่าที่ควร ซึ่งโดยความหวังของท่านดร.ปรีดีนั้น มุ่งหวังที่จะให้ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา มีมหาวิทยาลัยด้วย
ฉะนั้น เมื่อนายวิโรจน์ กมลพันธ์ นักเรียนเก่าอยุธยาวิทยาลัยซึ่งดำรงตำแหน่งธรรมการจังหวัดในขณะนั้น ได้ปรึกษาหารือกัน ในเรื่องการย้ายสถานที่ตั้งของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ดร.ปรีดี พนมยงค์มีความเห็นชอบด้วย จึงได้กราบบังคมทูลขอพระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ จาก พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชการที่8 ซึ่งได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณจากพระองค์ท่าน บริจาคพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวน 1 แสนบาท และได้ทรงมีพระราชดำรัสตรัสสั่ง ให้จัดสร้าง อาคารตึกถาวร 2 ชั้น เป็นสถานศึกษาโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยที่แข็งแรง สง่างามพร้อมกันนี้ยังได้จัดสร้าง หอประชุมพระราชทานอีก 1 หลัง และบ้านพักครูอีก 20 หลัง''
จากนั้นดร.ปรีดี พนมยงค์ ได้มอบหมายให้ หลวงบริหารชนบท ข้าหลวงประจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เป็นผู้พิจารณาเลือกสถานที่ ซึ่งนับได้ว่าเป็นโชคดีของโรงเรียน ที่จะได้ไปอยู่ในที่ที่เหมาะสมมาก โดยหลวงบริหารชนบท ได้เสนอแผนการก่อสร้างสนองความประสงค์ของท่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และได้รับการเห็นชอบ เพราะเห็นว่าอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม เป็นโรงเรียนรัฐบาลของจังหวัด และนอกจากนี้ยังสามารถขยายบริเวณออกไปให้กว้างขวางได้อีก ซึ่งความหวังของท่านดร.ปรีดีนั้น มุ่งหวังที่จะให้ มี มหาวิทยาลัยเกิดขึ้นด้วยในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ในอนาคต หลวงบริหารชนบทได้ให้ข้อคิดเห็นไว้ว่า"สถานที่ตั้งของโรงเรียนนี้เหมาะสมมาก โดยอยู่จุดกึ่งกลางของเกาะเมองและมีบริเวณสภาพแวดล้อมที่สวยงาม มีปูชนียสถาน ซึ่งเหมาะสมกับสถานศึกษา ด้านหน้าของโรงเรียนก็เป็นที่ตั้งของ สวนสาธารณะบึงพระราม ด้านหลังก็เป็นถนนที่ตัดตรงมาจากกรุงเทพฯ มี สถานที่ราชการสองฝั่งถนน ซึ่งเหมาะสมในทุกๆด้าน"
งานก่อสร้างได้เริ่มขึ้นเมื่อเดือน กรกฎาคม พ.ศ. 2482แล้วเสร็จเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2483 โดยมีหลวงบริหารชนบท เป็นกรรมการควบคุมการก่อสร้าง พร้อมกันนี้ยังได้ควบคุมงานก่อสร้างหอประชุมพระราชทานอีก1หลัง และบ้านพักครูอีก 20 หลังด้วย และอาคารเรียนนั้นได้ทำพิธีเปิดอาคารเมื่อเดือนมกราคม พ.ศ. 2484 และเนื่องจากอาคารหลังนี้สร้างขึ้นจากพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ทีได้พระราชทานให้สร้าง ครู-อาจารย์และนักเรียนตั้งแต่บัดนั้นจึงเรียกว่า “อาคารพระราชทาน”
และเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2534 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่ออาคารนามว่า “สิริมงคลานันท์” ยังความปลาบปลื้มมาแก่ชาวอยุธยาวิทยาลัยอีกครั้ง ที่ได้รับพระเมหากรุณาธิคุณ จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนาม “สิริมงคลานันท์”นี้ให้มาตราบเท่าทุกวันนี้
ด้วยพระบารมีปกเกล้าฯ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล รัชการที่8 ที่ได้พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์นั้น นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณ ยิ่งกว่าจะหาที่เปรียบได้ ยังความปลาบปลื้มแก่พวกเราชาวอยุธยาวิทยาลัยและชาวจังหวัดพระนครศรีอยุธยาเป็นอย่างยิ่ง การเรียนการสอนของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยดำเนินไปอย่างราบรื่นและก้าวหน้าขึ้นตามลำดับ
ครั้นถึงปี พ.ศ. 2486-2487 ประเทศไทยต้องประสบปัญหาภัยคุกคามจากสงครามโลกครั้งที่2 อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น และผลกระทบจากภัยสงครามก็ทำให้โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยจำเป็นต้องรับภาระด้วย กล่าวคือ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยรวมทั้งขออาศัยใช้สถานที่เรียนเป็นการลี้ภัยชั่วคราว จึงทำให้นักเรียนโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยมีการเรียน กันอย่างกระท่อนกระแท่น ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย แต่ครู-อาจารย์และนักเรียนก็เต็มใจและยินดี เพราะถือได้ว่าได้ให้ความช่วยเหลือเอื้ออารี ที่ยิ่งใหญ่แก่เพื่อนร่วมชาติและแก่สถาบันอุดมศึกษาแห่งแรกของไทยอันสูงส่ง เมื่อชาติบ้านเมืองกลับคืนสู่สภาวะปกติในยุคต่อๆมา การเรียนการสอน การศึกษาของโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย ได้ขยายตัวอย่ารวดเร็ว มีอาคารเรียนถาวรเพิ่มขึ้นอีกหลายอาคาร ภายใต้การบริหารของผู้อำนวยการ ครูใหญ่ อาจารย์ใหญ่อีกหลายท่าน ล้วนเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาก จำนวนครูและนักเรียนก็เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว เทคนิคและวิธีการสอนรูปแบบต่างๆตลอดจนเทคโนโลยีต่างๆจึงถูกนำมาบรรจุเข้าไว้เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน อย่างค่อนข้างพร้อมมูลในโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย
ปัจจุบัน โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย จัดการเรียนการสอนแบบสหศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 3 โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยมีการพัฒนาทุกด้านมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้โรงเรียนได้รับรางวัลพระราชทาน จำนวน 3 ครั้งด้วยกัน ดังนี้ พ.ศ. 2522,2537,2546 และยังมีนักเรียนของโรงเรียนที่ได้รับรางวัลพระราชทานเช่นกัน ซึ่งได้รับในปี พ.ศ. 2526,2527,2546,2549,2551
อาคาร / สถานที่สำคัญในโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย
-
พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8
- โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทรรัชกาลที่ 8 พระราชทานพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์จำนวนหนึ่งแสนบาท ในการสร้างอาคารเรียน 1 หลัง หอประชุม 1 หลัง และบ้านพักครูอีกจำนวน 20 หลัง โดยพระบรมราชานุสาวรีย์ฯจะตั้งอยู่ ณ สนามกลางโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย บริเวณด้านหน้าอาคารสิริมังคลานันท์ ซึ่งในทุกวันจันทร์นักเรียนโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยจะทำการถวายพวงมาลัยข้อพระกรและทำการถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ โดยพร้อมเพรียงกัน และในทุกวันที่ 9 มิถุนายน ของทุกปีทางโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย อันประกอบด้วย คณะผู้บริหาร คณะครู สมาคมนักเรียนเก่าอยุธยาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ นักเรียนปัจจุบัน และนักเรียนเก่า ได้จัดพิธีบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทาน พิธีวางพวงมาลาและถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์ฯ เพื่อเป็นการสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ท่าน
-
อาคาร 1 อาคารสิริมงคลานันท์ เป็นอาคารเรียนที่เก่าแก่ที่สุดในโรงเรียน ก่อสร้างในปี พ.ศ. 2484 โดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ปัจจุบันเป็นอาคารอำนวยการของโรงเรียน
- ชั้น 1 ห้องผู้อำนวยการ สำนักงานผู้อำนวยการ กลุ่มบริหารบุคคลและกิจการนักเรียน กลุ่มบริหารงบประมาณ กลุ่มบริหารทั่วไป (ฝ่ายอาคาร/สถานที่, ฝ่ายสารบรรณ, ฝ่ายพัสดุ) และห้องประชุมวิวัฒน์ชาญอนันตชัย
- ชั้น 2 พิพิธภัณฑ์ทางการศึกษาโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย จำนวนทั้งสิ้น 9 ห้อง
-
อาคาร 2 เป็นอาคารเรียนวิชาคอมพิวเตอร์
- ชั้น 1 กลุ่มบริหารวิชาการ ห้องประชุมแววกตสาโรอุปถัมภ์ ศูนย์อาเซียนศึกษา และห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม
- ชั้น 2 ห้องพักครูวิชาคอมพิวเตอร์ ห้องเรียนคอมพิวเตอร์จำนวน 4 ห้องเรียน และศูนย์การเรียนรู้
-
อาคาร 3 เป็นอาคารเรียนสังคมศึกษา สุขศึกษา ภาษาต่างประเทศ และการงานและเทคโนโลยี (ธุรกิจศึกษา)
- ชั้น 1 ห้องประชาสัมพันธ์ ห้องวิทยฐานะ ห้องถ่ายเอกสาร และห้องเรียนจำนวน 6 ห้องเรียน
- ชั้น 2 ห้องพักครูวิชาธุรกิจศึกษา ห้องพิมพ์ดีด ห้องจำลองธุรกิจ และห้องเรียนจำนวน 4 ห้องเรียน
- ชั้น 3 ห้องเรียนจำนวน 7 ห้องเรียน
-
อาคาร 4 เป็นอาคารเรียนวิชาภาษาต่างประเทศ
- ชั้น 1 ห้องเรียนพิเศษ English Program จำนวน 2 ห้องเรียน ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาต่างประเทศ และห้องเรียนจำนวน 3 ห้องเรียน
- ชั้น 2 ห้องภาษาต่างประเทศ ห้อง Multimedia Center และห้องสมุดภาษาต่างประเทศ
- ชั้น 3 ห้องเรียนจำนวน 6 ห้องเรียน
- ชั้น 4 ห้องเรียนจำนวน 6 ห้องเรียน
-
อาคาร 5 อาคารเฉลิมพระเกียรติ 60 พรรษามหาราชินี เป็นอาคารเรียนวิชาคณิตศาสตร์ ก่อสร้างขึ้นในวาระที่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถในรัชกาลที่ 9 ทรงเจริญพระชนมายุครบ 5 รอบ 60 พรรษา
- ชั้น 1 ห้องสมุดประจำโรงเรียน ห้องสมุดอาเซียน (ASEAN Library Room) โดยกรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ และร้านค้าสวัสดิการโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย
- ชั้น 2 ห้องเรียนคณิตศาสตร์ ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ห้องเรียนพิเศษคณิตศาสตร์ และห้องเรียนจำนวน 4 ห้องเรียน
- ชั้น 3 ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ม.ต้น ห้องเรียนจำนวน 7 ห้องเรียน ในวันเสาร์ - อาทิตย์ เป็นห้องเรียนของนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง
- ชั้น 4 ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ม.ต้น จำนวน 2 ห้องเรียน ห้องเรียนจำนวน 6 ห้องเรียน
-
อาคาร 6 อาคารอเนกประสงค์ เป็นอาคารเรียนวิชาวิทยาศาสตร์
- ชั้น 1 ห้อง TOT IT SCHOOL สำนักงานย่อยเขตการศึกษามัธยมศึกษาเขต 3 ห้องประชุม ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ห้องวิทยาศาสตร์อากาศยาน และห้องเรียนจำนวน 2 ห้องเรียน
- ชั้น 2 ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์ 2 ห้องเรียน และห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์จำนวน 5 ห้องเรียน
- ชั้น 3 ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ห้องหุ่นยนต์และอิเล็คทรอนิกส์ ห้องโครงงาน ห้องเรียนปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์ ห้องเรียนปฏิบัติการชีวะวิทยา ห้องฟิสิกส์จำนวน 2 ห้อง และห้องประชุม ในวันเสาร์ - อาทิตย์ เป็นห้องเรียนของนักศึกษาปริญญาโทหลักสูตร MBA มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
- ชั้น 4 หอประชุมใหญ่ของโรงเรียน
- อาคาร 7 อาคารบุญประเสริฐ เป็นอาคารเรียนชั้นเดียว บริจาคเงินก่อสร้างโดย พลเอกชาญ บุญประเสริฐ ประกอบด้วยห้องพักครูวิชาแนะแนว ห้องเรียนจำนวน 7 ห้องเรียน
-
อาคาร 8 อาคารอานันทศิลป์ เป็นอาคารเรียนวิชาศิลปะ
- ชั้น 1 ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ศิลปะ ห้องเรียนจำนวน 2 ห้องเรียน (ทัศนศิลป์)
- ชั้น 2 ห้องเรียนจำนวน 3 ห้องเรียน (ดนตรีไทย ขับร้อง และการแสดง)
- ชั้น 3 ห้องเรียนจำนวน 2 ห้องเรียน (นาฏศิลป์ และดนตรีสากล)
-
อาคาร 9 อาคาร 100 ปี อยุธยาวิทยาลัย เป็นอาคารที่สร้างขึ้นในวาระโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยมีอายุครบ 100 ปี ก่อสร้างโดยเงินบริจาคของนักเรียนเก่าโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย
- ชั้น 1 ห้องพักครูวิชาสุขศึกษา ห้องจ่ายยา ห้องผ่าตัดเล็ก ห้องนอนพักฟื้น
- ชั้น 2 ห้อง Academic Internet และที่ทำการสถานีโทรทัศน์อยุธยาวิทยาลัย
- อาคาร 10 อาคารขนาบน้ำ เป็นอาคาร 1 ชั้น ห้องเรียนพิเศษวิทยาศาสตร์จำนวน 4 ห้องเรียน และห้องเรียนสีเขียว 1 ห้อง
- อาคาร 11 อาคารฮาน่า เป็นอาคาร 1 ชั้น ใช้สำหรับการทำปฏิบัติการฟิสิกส์
-
อาคาร 12 อาคารอักษรานันท์ เป็นอาคารก่อสร้างใหม่ 2 ชั้น ใช้ในการเรียนวิชาภาษาไทย
- ชั้น 1 ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ห้องเรียนจำนวน 9 ห้องเรียน
- ชั้น 2 ห้องเรียนจำนวน 11 ห้องเรียน
-
อาคารศูนย์กีฬาอยุธยาวิทยาลัย เป็นอาคารสำหรับเล่นกีฬาแบดมินตัน ตระกร้อ ปิงปอง และบาสเก็ตบอล
- ชั้น 1 ห้องกิจกรรมพัฒนาผู้เรียน (ลูกเสือ, เนตรนารี, ยุวกาชาด) เวทีมวย ลานเล่นแบดมินตัน ตระกร้อ และปิงปอง
- ชั้น 2 ห้องพักครูกลุ่มสาระการเรียนรู้สุขศึกษาและพลศึกษา ห้องเรียนวิชาสุขศึกษาจำนวน 2 ห้องเรียน ห้องสมุดการกีฬา และห้องออกกำลังกาย
- ชั้น 3 สนามบาสเกตบอล พร้อมอัฒจันทร์ 3 ด้าน จุคนได้ประมาณ 1,500 คน
-
ลานอุตสาหกรรม เป็นบริเวณอาคารเรียนวิชาการงานอาชีพและเทคโนโลยี ประกอบด้วย
- อาคารอุตสาหกรรม 1 ห้องพักครูวิชาอุตสาหกรรม ห้องเรียน e-Learning และห้องเรียนจำนวน 2 ห้องเรียน (การออกแบบ, การประดิษฐ์, การเขียนแบบ)
- อาคารอุตสาหกรรม 2 ห้องพักครูวิชาอุตสาหกรรม ห้องดนตรีสากล และห้องเรียนจำนวน 2 ห้องเรียน (เครื่องยนต์, อิเล็กทรอนิกส์, การเขียนแบบ)
- อาคารคหกรรม ห้องพักครูวิชาคหกรรม ห้องเรียนจำนวน 4 ห้องเรียน (การประกอบอาหาร, การประดิษฐ์, งานบ้าน)
- อาคารเกษตรและบริเวณโดยรอบ เป็นอาคารเรียนวิชาเกษตร 3 ห้องเรียน บริเวณโดยรอบเป็นแปลงเกษตร โรงเรือนปลูกต้นไม้ และบ้าน 1 หลัง ชั้นล่างเป็นห้องเรียนจำนวน 1 ห้องเรียน ชั้นบนเป็นห้องพักครูวิชาเกษตร ซึ่งบ้านหลังนี้เป็นบ้านพักครูหลังสุดท้ายจากจำนวน 20 หลังที่ก่อสร้างในปี พ.ศ. 2484 โดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
- อาคารศุภพิพัฒน์ เป็นอาคารศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช
- อาคารดิษยรักษ์ เป็นที่ทำการธนาคารโรงเรียน โดยความร่วมมือระหว่างโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยกับธนาคารออมสิน
- หอประชุมพระราชทาน รัชกาลที่ 8 เป็นหอประชุมแห่งแรกของโรงเรียน ก่อสร้างในปี พ.ศ. 2484 โดยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์
- หอประชุม 2 มีความจุประมาณ 500 คน สามารถใช้เป็นที่ทำการสอนวิชาพลศึกษา โดยปรับเป็นสนามวอลเล่ย์บอลหรือสนามแบตมินตันจำนวน 1 สนามได้
- โรงยิมตะกร้อ ห้องพักครูวิชาพลศึกษา สนามตระกร้อในร่ม 3 สนาม และที่ทำการสำหรับหน่วยรักษาความปลอดภัย
- โดม 1 เป็นที่สำหรับนั่งพักผ่อน ทำกิจกรรมนันทนาการ และเป็นเวทีแสดงศักยภาพนักเรียน
- โดม 2 เป็นสนามกีฬาในร่ม แบ่งเป็นสนามวอลเล่ย์บอล 1 สนาม และสนามบาสเกตบอล 2 สนาม (สามารถปรับเป็นสนามฟุตซอลได้ 2 สนาม หรือ สนามฟุตบอล 1 สนาม)
- โดม 3 เป็นสนามกีฬาในร่ม เป็นสนามบาสเกตบอล 2 สนาม (สามารถปรับเป็นสนามฟุตซอลได้ 2 สนาม หรือ สนามฟุตบอล 1 สนาม)
- โดม 4
- สนามฟุตบอล เป็นสนามฟุตบอลขนาดมาตรฐาน พร้อมลู่วิ่งจำนวน 6 ลู่ และอัฒจันทร์ไม้จำนวน 6 อัฒจันทร์ (ปัจจุบันอัฒจันทร์ไม้อยู่ในระหว่างการรื้อถอนและก่อสร้างอัฒจันทร์ใหม่ เนื่องจากอัฒจันทร์ไม้เดิมนั้นอยู่ในสภาพชำรุดยากต่อการซ่อมแซม)
- สระว่ายน้ำอยุธยาวิทยาลัย เป็นสระว่ายน้ำขนาดมาตรฐาน 50 เมตร (พร้อมอัฒจันทร์มีความจุประมาณ 1,000 คน) โดยได้รับงบประมาณก่อสร้างจากกรมพลศึกษา
-
หอพระพุทธรูปประจำโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย มี 2 แห่งคือ
- จุดที่ 1 ตั้งอยู่บริเวณประตูทางเข้าด้านถนนโรจนะ ตรงข้ามจวนผู้ว่าราชการจังหวัดพระนครศรีอยุธยา บริจาคเงินก่อสร้างโดย พลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักเรียนเก่าโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยและอดีตนายกรัฐมนตรี โดยนามของพระพุทธรูปที่ประดิษฐานคือ "พระพุทธปฏิมาวาสนฐารสม์"
- จุดที่ 2 หอพระพุทธไตรรัตนนายก ตั้งอยู่บริเวณประตูทางเข้าด้านถนนป่าโทน ตรงข้ามสวนสาธารณะบึงพระราม ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554 โดยนามของพระพุทธรูปที่ประดิษฐานคือ "พระพุทธไตรรัตนนายก"
- ลานธรรมะ เป็นลานอเนกประสงค์เพื่อการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาของโรงเรียนในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา และฝึกจิตใจให้สงบ การนั่งสมาธิ
-
ศูนย์อาหารโรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย มีจำนวน 2 แห่ง
- ศูนย์อาหาร 1 เป็นโรงอาหารเดิมตั้งแต่ก่อตั้งโรงเรียน อยู่ติดประหอประชุมพระราชทาน รัชกาลที่ 8 มีร้านค้าประมาณ 20 ร้านค้า มีความจุประมาณ 800 คน
- ศูนย์อาหาร 2 เปิดใช้เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2554 มีร้านค้าประมาณ 20 ร้านค้า มีความจุประมาณ 1,000 คน
- โรงผลิตน้ำดื่มอยุธยาวิทยาลัย เป็นโครงการผลิตน้ำดื่มส่งเสริมอาชีพนักเรียนอยุธยาวิทยาลัย อยู่บริเวณด้านหลังศูนย์อาหาร 1 ผลิตเพื่อจำหน่ายในโรงเรียนให้แก่ครู อาจารย์ และนักเรียน
- ศูนย์ฝึกนักศึกษาวิชาทหาร โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย เป็นศูนย์ฝึกย่อยสำหรับฝึกนักศึกษาวิชาทหาร โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัย
- กำแพง 100 ปี เป็นกำแพงที่สร้างขึ้นในวาระโรงเรียนมีอายุครบ 100 ปี เป็นกำแพงอิฐ ลักษณะคล้ายกำแพงเมืองโบราณ
วิสัยทัศน์
โรงเรียนอยุธยาวิทยาลัยเป็นสถานศึกษาที่มีคุณภาพการศึกษาสูง พัฒนานักเรียนให้เป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ รู้จักตนเองและอยู่ร่วมในสังคมอย่างมีความสุข เสริมสร้างความตระหนักในบทบาทหน้าที่ครู และร่วมมือร่วมใจในการพัฒนาการศึกษาให้เป็นที่ยอมรับของผู้ปกครอง ชุมชน สังคมเพื่อก้าวไปสู่ความเป็นมาตรฐานสากล
พันธกิจ
1. นักเรียนเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ มีคุณธรรม จริยธรรม และคุณลักษณะที่พึงประสงค์ และตามแนวทางของความเป็นอยุธยาวิทยาลัย
2. นักเรียนมีความเป็นเลิศทางวิชาการ สื่อสารได้อย่างน้อย 2 ภาษา มีทักษะในการคิดวิเคราะห์อย่างสร้างสรรค์ ใช้เทคโนโลยีเป็น ตามเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพการศึกษา และมาตรฐานสากล
3. ครูและบุคลากรทางการศึกษามีคุณภาพชีวิตที่ดี มีขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่
4. โรงเรียนมีระบบการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายในลักษณะการบริหารงานแบบมีส่วนร่วม เพื่อสู่ความเป็นมาตรฐานสากล
5. โรงเรียนบริหารจัดการด้วยระบบคุณภาพ ได้รับการรับรองจากองค์การภายใน / ภายนอก
6. โรงเรียนมีเครือข่ายแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค ระดับประเทศ จนก้าวสู่มาตรฐานสากล
อัตลักษณ์ของโรงเรียน
ชาติเสือ หมายถึง ผู้ที่มีกำเนิดมาจากบรรพบุรุษที่มีแต่คนเก่ง กล้าหาญ
เอกลักษณ์ของโรงเรียน
ภูมิใจสถาบัน มุ่งมั่นความเป็นเลิศ เทิดองค์อานันท์
ปรัชญาของโรงเรียน
ตั้งใจเรียน เพียรทำดี มีวินัย รับใช้สังคม
สีประจำโรงเรียน
ขาว-แดง
ดอกไม้ประจำโรงเรียน
ดอกพะยอม